วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ไฮเดรนเยีย...ดอกไม้แห่งหัวใจด้านชา

ไฮเดรนเยีย ดอกไม้แห่งหัวใจด้านชา





ไฮเดรนเยีย เป็นดอกไม้จากต่างประเทศ ที่เรารู้จักกันมานานแล้ว สันนิษฐานกันว่า นำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
คำว่า  hydrangea มาจากรากศัพท์ภาษากรีก ที่ว่า  water (hydro) และ vessel (angeion) = bowel of water ที่เรียกเช่นนั้นคงเป็นเพราะรูปทรงของดอกคล้ายอ่าง  ไฮเดรนเยียเป็นต้นไม้สุดมหัศจรรย์ที่สามารถเปลี่ยนสีดอกได้เพียงแค่ปรับค่าความเป็นกรดด่างของดิน
ดอกไฮเดรนเยีย  หรือที่ต่างประเทศมักรู้จักกันในชื่อ "ฮอร์เดนเชีย" ส่วนคนไทยก็มีชื่อเรียกมากมาย ทั้ง ดอกสามเดือน ดอกหกเดือน หรือดอกสามสี โดยดอกไม้ชนิดนี้มีหลากหลายสี และหลายพันธุ์ เป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร บางชนิดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้เลื้อยแต่ส่วนใหญ่มักเป็นไม้พุ่มเตี้ย ชอบอากาศหนาวเย็น พืชชนิดนี้มีดอกสวยงาม และมีกลิ่นหอม
รูปร่างมาตรฐานโดยทั่วไปของดอกไม้ชนิดนี้ จะเป็นดอกเล็ก ๆ สี่กลีบอยู่รวมกันเป็นช่อ มีทั้ง สีขาว ม่วง ชมพู หรือฟ้า ที่แปลกและมหัศจรรย์คือ ไฮเดรนเยียจะเปลี่ยนสีของดอกตามสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน ปริมาณของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมก็มีผลต่อค่าของสีที่เปลี่ยนไปด้วย หากเครื่องปลูกมีสภาพเป็นกรด pH 5.0-5.5 สีดอกจะออกเป็นสีน้ำเงิน ถ้าสภาพเป็นด่างจะให้ดอกสีม่วงหรือชมพูถ้าปลูกในเครื่องปลูกที่สภาพเป็นกลางดอกไฮเดรนเยียจะมีสีครีมซีด สีของเจ้าดอกไม้ชนิดนี้ก็เลยมักจะแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศ ในตำราต้นไม้บางเล่มแนะนำวิธีเปลี่ยนสีให้ดอกไฮเดรนเยีย คือ ถ้าอยากให้ดอกเป็นสีฟ้าก็ให้เอาตะปูที่เป็นสนิมหรือตะไบเหล็กผสมลงในวัสดุปลูกเพื่อช่วยเพิ่มความเป็นกรด หรืออาจรดน้ำที่ผสมน้ำแกว่งสารส้มก็จะทำให้ดอกเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีฟ้าได้ นิยมปลูกประดับสวน หรือปลูกลงกระถาง ขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำกิ่ง ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการขยายพันธุ์คือช่วงฤดูฝนเพราะสภาพอากาศชื้น และเป็นช่วงที่ต้นพันธุ์แตกหน่อกิ่งก้านมากทำให้มีกิ่งพันธุ์จำนวนมาก.
ในความหมายของดอกไม้ ดอกไฮเดรนเยียทุกสี เป็น ดอกไม้แห่งหัวใจด้านชาเขาว่ากันว่าไม่ควรมอบดอกไม้นี้ให้แก่ผู้ใด นอกจากอยากจะตัดพ้อผู้รับว่า เขาหรือเธอ ช่างเป็นคนใจด้านชาเสียเหลือเกิน แต่ในอีกความหมายหนึ่ง เขาก็ว่า ดอกไฮเดรนเยีย หมายถึง คำขอบคุณ” …Thank you for understanding...ขอบคุณที่เข้าใจกัน ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าลองเอาความหมายมารวมกันอาจจะเป็น "ขอบคุณสำหรับหัวใจที่ด้านชา" ไม่ก็ "ขอบคุณที่เข้าใจหัวใจอันด้านชาของฉัน"





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น